โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์หรือที่ชาวเชียงรายนิยมเรียกว่า โฮงยาไทย และที่มีคำว่าประชานุเคราะห์ต่อท้ายเนื่องจากได้รับการสนับสนุนในการจัดสร้างจากประชาชน ซึ่งประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จากกลุ่มบุคคลซึ่งเรียกว่า คณะราษฎร์ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีนโยบายสร้างโรงพยาบาลหัวเมือง โดยประกาศ พรบ. สาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2477 ในสมัยของพระยาพหลพยุหเสนา ซึ่งเป็นรัฐบาลหัวหน้าคณะราษฎร์ในขณะนั้น เพื่อแสดงเกียรติภูมิของชาติให้ปรากฏแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกตามนโยบาย อวดธง ในปี พ.ศ. 2479 คุณพระพนมนครารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย ซึ่งประชาชนในจังหวัดเชียงรายนำโดยคหบดี คุณพ่อสีห์ศักดิ์ และคุณแม่กิมเฮียะ โตไพบูลย์ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 19 ไร่ รวมทั้งประชาชนซึ่งมีที่ดินข้างเคียงร่วมบริจาคให้เป็นจำนวนพอสมควร และได้ขอความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับเงินสนับสนุนเงินบริจาคจากประชาชน ในจังหวัดเชียงราย ด้วยความร่วมมือของท่านขุนวิศิษฐิ อุดรการ ท่านขุนสุวรรณรัตนราช คลังจังหวัด ตลอดจนบรรดาคหบดี โรงสีทุกแห่ง ภายใต้การนำของท่านมุ่ย เตวิทย์และคุณนายจากเชียงราย รวมทั้งคุณหลวงพิศิษฐ์ ไกรกร คุณหลวงศรีนครานุกูล เจ้าแม่ไหวจากพะเยา ก็ได้ให้การสนับสนุนด้วย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 (วันศุกร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปี ฉลู) มีแพทย์ 1 คน คือ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งท่านได้พัฒนาและสร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้กับโรงพยาบาลอย่างไม่สามารถหาผู้ใดเปรียบได้ ในช่วงแรกโรงพยาบาลได้รับการอนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 50 เตียง และได้เพิ่มจำนวนเตียงตามลำดับ กระทั่งปี พ.ศ. 2531 ได้รับการอนุมัติเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 600 เตียง และปัจจุบันมีจำนวน 773 เตียง มีเนื้อที่ 73 ไร่ 2.6 ตารางวา จำนวน 13 แปลง


วางศิลาฤกษ์ตึกผู้ป่วยนอกหลักแรก พ.ศ. 2479

ตึกอำนวยการหลังแรก พ.ศ. 2480

ผู้อำนวยการท่านแรกของโรงพยาบาล

ผู้อำนวยการ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์

10/10/2565 ข้อมูลโดย งานบริการข้อมูล โทร.053-711300 ต่อ 2181